ช่วงเวลาของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ในฐานะผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สิ้นสุดลงเรียบร้อย หลังจากทำหน้าที่นี้มาเกือบ 3 ปีเต็ม
กุนซือชาวนอร์เวย์ กลับมา โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ในเดือนธันวาคมปี 2018 โดยเข้ามารักษาการแทนที่ โชเซ่ มูรินโญ่ ก่อนทำผลงานได้ยอดเยี่ยมจนได้สัญญาคุมทีมเต็มตัวในเวลาต่อมา พร้อมความหวังว่าเจ้าของฉายา ‘เพชรฆาตหน้าทารก’ จะพา ‘ปีศาจแดง’ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดคิด และท้ายที่สุดเขาก็โบกมือลาทีมไปโดยไม่มีแชมป์แม้แต่รายการเดียว อีกทั้งไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นกุนซือระดับท็อปของวงการได้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อได้แข้งระดับโลกย้ายมาร่วมทีมด้วย ด้วยเหตุนี้ Hdfootball ดูบอลออนไลน์ จึงพาไปวิเคราะห์ถึงปัญหาใหญ่หลักๆที่ส่งผลให้เก้าของ โอเล่ ในโรงละครแห่งความฝันต้องสั่นคลอน ก่อนต้องจำใจลาทีมไปแบบน่าผิดหวังทั้งในสายตาของแฟนบอล รวมถึงตัวเขาเองด้วย
ไร้ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ
3 ปีที่ไม่มีถ้วยแชมป์ให้สัมผัส แม้ต้องพบกับความพ่ายแพ้แบบหมดสภาพในช่วงท้ายๆของการคุมทีม แต่นั่นก็เป็นการทบทวนการทำหน้าที่ของ โซลชา ในฐานะกุนซือ ‘ปีศาจแดง’ เช่นกัน
- โชเซ่ มูรินโญ่ คว้าแชมป์เมเจอร์ 3 รายการ, หลุยส์ ฟาน กัล ทิ้งท้ายด้วยการคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ หรือ เดวิด มอยส์ อย่างน้อยก็คว้าแชมป์คอมมูนิตี้ ชิลด์ ได้ แต่หากไม่มีถ้วยรางวัลก็ยากที่จะพูดได้เต็มปากว่าทีมมีความก้าวหน้าขึ้น และในยุคของกุนซือชาวนอร์เวย์ ก๋ไม่มีช่วงเวลาสำคัญเหล่านั้น และไม่มีอะไรให้แฟนบอลได้เฉลิมฉลองเลย
- เชื่อว่าหลายสิ่งหลายอย่างคงต่างไปจากที่เป็นในตอนนี้พอสมควร หาก แมนฯ ยูไนเต็ด สามารถยิงจุดโทษช่วงชี้ขาดเอาชนะ บียาร์เรอัล ในนัดชิงชนะเลิศของศึกยูโรป้า ลีก เมื่อฤดูกาลก่อน นี่อาจไม่ใช่รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่มันคงช่วยให้ลูกทีมของ โซลชา มีความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า หลังจบอันดับ 2 ในลีก และคงทำให้แฟนบอลได้เห็นแสงแห่งความหวังด้วย
- การพลาดจุดโทษของ ดาบิด เด เคอา เป็นช่วงเวลาที่โหดร้าย แต่การล้มเหลวในช่วงเวลาสำคัญในครั้งนั้นรวมถึงก่อนหน้านี้ กลับกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อตำแหน่งของ อดีตดาวยิงทีมชาตินอร์เวย์ ในเวลาต่อมา
- ในฤดูกาล 2019-20 ยูไนเต็ด ผ่านเข้าไปถึงรอบตัดเชือกถึง 3 รายการ และพวกเขาก็ทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานจนต้องร่วงทั้ง 3 รายการ ทั้งต่อ เชลซี ในเอฟเอ คัพ, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในคาราบาว คัพ และ เซบีย่า ในยูโรป้าลีก
- ฤดูกาลต่อมา พวกเขาก็พ่ายในรอบรองอีกครั้งให้กับ ‘เรือใบสีฟ้า’ ทีมอริร่วมเมืองที่ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ลีก คัพ ได้ 4 ปีติดต่อกัน
- ถ้าการพ่ายจุดโทษต่อ บียาร์เรอัล เป็นเพราะโชคไม่ดี เกมรอบตัดเชือก 4 ครั้งก่อนหน้านี้ก็คงเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่าทีมนี้ไม่สามารถคว้าชัยชนะได้ ยามที่ต้องเผชิญแรงกดดัน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆและมากขึ้นไปทุกที
แทคติกที่อ่อนด้อยและไร้รูปแบบที่ชัดเจน
ก่อนความพ่ายแพ้ต่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ครั้งล่าสุด โซลชา สามารถโอ้อวดได้ว่าเขาเป็นคู่ปรับของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่มีสถิติเหนือกว่า ทั้งการบุกไปคว้าชัยถึง เอติฮัด สเตเดี้ยม 3 หน รวมไปถึงเกมสำคัญนัดอื่นๆ เช่นเกมคว้าชัยเหนือ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ซึ่งล้วนเป็นช่วงเวลาที่น่าภูมิใจ และสยบเสียงวิจารณ์ในตัวเขาได้ แต่ความพ่ายแพ้ในเกมดาร์บี้และการโดน ลิเวอร์พูล คู่แค้นตลอดกาลบุกมาถล่มถึง โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 5-0 ทำให้ กุนซือชาวนอร์เวย์ โดนพูดถึงอย่างหนักทั้งในแง่การไม่มีไหวพริบในการแก้เกม หรือการบริหารจัดการที่ย่ำแย่เกินกว่าจะพา ยูไนเต็ด กลับไปยอดทีมได้อีกครั้ง ย้อนไปช่วงแรกเริ่มเดิมที โอเล่ เข้ามาในฐานะกุนซือขัดตาทัพ โดยมีประวัติคุมทีมก่อนหน้านี้แค่ โมลด์ และ คาร์ดิฟฟ์ เท่านั้น ซึ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงหลายครั้ง (โดยเฉพาะกับ คาร์ดิฟฟ์ที่พาทีมตกชั้น) เมื่อเขาพาทีมผลงานแย่ และเมื่อผลงานไม่กระเตื้อง การอภิปรายถึงความสามารถด้านต่างๆของเขาก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการทำเกมของ ยูไนเต็ด, การหาสมดุลในแดนกลาง, โครงสร้างเกมรับ หรือ รูปแบบการเล่นเกมรุก เหล่าผู้วิเคราะห์เกมหลายคน ได้หยิบยกข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆในแต่ละเกมที่ส่งผลให้ ยูไนเต็ด เพลี่ยงพล้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งความผิดพลาดในเกมรับ, จุดอ่อนลูกตั้งเตะ การยืนตำแหน่งที่ผิดพลาดในเกมรับแดนกลาง หรือแผนการเพรสซิ่งที่ไม่ชัดเจน
- ในยุคที่ปรัญชาการคุมทีมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับกุนซือในยุคปัจจุบัน โซลชา ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าเขามีสไตล์การเล่นแบบไหนที่ชัดเจนเลย
- ชัยชนะส่วนใหญ่ล้วนมาจากการเล่นแบบโต้กลับ แต่ ยูไนเต็ด กลับมีข้อด้อยในการเล่นมากมาย ทั้งจุดอ่อนในการเล่นพื้นที่แคบๆ, แก้บอลเพรสซิ่งสูงไม่ได้, ความซับซ้อนของแทคติคทั้งตอนที่ครองบอล หรือไม่มีบอล หรือเจาะไม่เข้าเมื่อเจอคู่แข่งที่รับลึก
- ในลีกที่ กวาร์ดิโอล่า, คล็อปป์ หรือผู้มาใหม่อย่าง ทูเคิ่ล สามารถสร้างมาตรฐานรูปแบบการเล่นของทีมได้ชัดเจน โอเล่ กลับใช้เวลามากเกินไปในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆในทีมให้เข้ากัน แถมสุดท้ายก็หาจุดลงตัวไม่ได้เสียที
- มันได้ผลหรือแก้ขัดได้ในบางครั้ง แต่ไม่มีทางที่นั่นจะกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ช่วยให้ ยูไนเต็ด กลับไปเป็นยอดสโมสรอีกครั้งแน่นอน
แผลที่ถูกเปิดจากการมาของ CR7
แม้ซัดไป 9 ประตูจาก 12 นัด แต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ดาวเตะขวัญใจ เร้ด อาร์มี่ กลับถูกมองเป็นแพะรับบาปที่ทำให้ ยูไนเต็ด ต้องกระเสือกกระสนอยู่ในฤดูกาลนี้ ดาวยิงทีมชาติโปรตุเกส ยิงประตูให้ทีมทุกนัดจาก 4 เกมแชมเปี้ยนส์ลีก ทั้งประตูชัยเหนือ บียาร์เรอัล หรือ เกมเจ๊า อตาลันต้า (2 ลูก) จนช่วยให้ทีมเก็บ 7 แต้ม ขณะที่ในพรีเมียร์ลีก เขาอาจไม่ได้รวดเร็วเช่นวัยหนุ่ม แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดในการประตูที่ไม่ด้อยไปกว่าใคร ณ วัย 36 ปี แต่การที่ ยูไนเต็ด ไม่มีการเล่นที่ชัดเจนทั้งในเกมรุกและรับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นส่งผลกระทบต่อนักเตะที่ โซลชา เลือกลงสนาม อีกทั้งยังจำเป็นต้องเปลี่ยนสไตล์เพื่อปรับให้เข้ากับจุดแข็งและจุดอ่อนของ CR7 ด้วย หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือหาแทคติกหรือแผนที่ลงตัวในการใช้งาน โรนัลโด้ ให้มีประสิทธิภาพกับทีมมากที่สุดไม่ได้เลยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม บางทีปัญหาสำคัญสำหรับกุนซือวัย 48 ปี เมื่อพูดถึงโรนัลโด้คือ การกลับมาของเขาทำให้ความคาดหวังสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว มากเสียยิ่งกว่าตอนที่ดึง จาดอน ซานโช่ หรือ ราฟาแอล วาราน เข้ามาเสียอีก
โอกาสสุดท้ายของกุนซือชาวนอร์เวย์
นี่ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งที่ 5 ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ อีกทั้งในช่วง 5 เกมลีกหลังสุด ความปราชัยต่อ ‘แตนอาละวาด’ ถือเป็นเกมที่ 3 ที่ ‘ปีศาจแดง’ โดนคู่แข่งทะลวงตาข่ายถึง 4 ลูก ต่อจาก เกมพ่าย เลสเตอร์ และ ลิเวอร์พูล อีกทั้งยังเก็บคลีนชีทได้เพียง 2 จาก 12 เกมลีกด้วย เกมที่ผ่านมาเลยจัดเป็นฟางเส้นสุดท้ายของตัวเขาเอง