หลายคนยังไม่เข้าใจว่า Black Lives Matter คืออะไร Black Lives Matter ถ้าแปลไทยตรงตัวว่า “ชีวิตคนดำมีความสำคัญ” ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็นคำนี้บ่อยๆ ในข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประท้วง
ความจริงแล้ว Black Lives Matter ไม่ใช่องค์กรหรือสัญลักษณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา
คำนี้ปรากฏออกมานานแล้วจากอดีตสู่ปัจจุบัน ที่หล่อหลอมรวมกันขึ้นจากความอยุติธรรม และ “การแบ่งแยกสีผิว” ที่คนสหรัฐฯ ต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่ามักเกิดขึ้นกับคนดำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ และสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
ปัจจุบัน Black Lives Matter กลายเป็นองค์กรระดับโลกที่มีหน่วยงานต่างๆ หรือองค์กรมากมายให้การสนับสนุน มีสาขาอยู่หลายพื้นที่ ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์กิจกรรม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนดำในหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ซึ่งเป็นปีที่เริ่มก่อตั้งขึ้นมา
คนผิวดำไม่ชอบให้ถูกเรียกว่า “คนผิวสี”
- คำว่า “คนผิวสี” (People of Colour) ความหมายไม่ได้แปลว่าใช้เรียกคนดำเท่านั้น แต่รวมถึงคนต่างเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนผิวขาวแบบชาวยุโรป ถ้าเป็นคนเอเชียก็คือคนผิวสี เป็นคนเม็กซิกันก็คือผิวสี (คนผิวเลือดผสมขาว-อินเดียนแดง) แต่ปัจจุบันเรามักได้เห็นคนทั่วไป หรือสื่อต่างๆ นำคำนี้มาใช้เรียกเฉพาะกับคนผิวดำ ทำให้ดูเหมือนจะเป็นคำกลางๆ ไม่ดูเหยียดเกิน
- แต่นั่นมันก็แค่ภาพลักษณ์ที่หลายคนคิดไปเองว่า “ดำ” เป็นความหมายที่ไม่ดี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสื่อจากประเทศอังกฤษ ได้ตีแผ่บทความหนึ่งออกมาว่าแท้จริงแล้วคนดำ ชอบให้เรียกแทนชาติพันธุ์ของพวกเขา “คนผิวดำ” (Black people) มากกว่า หรือทางการหน่อยก็อาจเป็น ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน (African Americans) ได้เหมือนกัน
- ซึ่งเมื่อคำว่า “คนผิวสี” มาถูกใช้เรียกเฉพาะกับ “คนผิวดำ” ทั้งๆ ที่คำนี้ควรเป็นคำเรียกแบบหลอมรวม บางครั้งจึงเหมือนเป็นการลดทอนคุณค่าของคำว่า “คนผิวดำ” ลงทำให้พวกเขารู้สึกไม่มีความสำคัญ หรือถูกละเลยกระทั่งชื่อที่ใช้เรียกชาติพันธุ์
เพราะอย่างนี้ Black Lives Matter จึงไม่ใช้คำว่า All Lives Matter (ทุกชีวิตมีความสำคัญ) แบบที่หลายคนเคยตั้งประเด็นขึ้นมาว่า น่าจะใช้คำว่า “All” มากกว่าเพราะแสดงถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทุกชีวิต ซึ่งดูเหมือนจะผิดประเด็นไป จริงๆใช้คำว่า Black Lives Matter ก็ถูกต้องแล้ว เพราะนี่คือการเรียกร้องให้คนดำที่ถูกกระทำ
ประเด็นที่คำนี้มาเกี่ยวข้องกับวงการกีฬา
- การเหยียดผิวไม่ได้มีแค่คนทั่วไป แต่ในโลกของกีฬา โลกอีกใบที่ประสบปัญหาเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันเพียงเพราะสีผิวที่แตกต่าง เวลานี้พวกเขาจำนวนไม่น้อยที่เลือกแล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ความอยุติธรรมนี้ผ่านไป จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญกับภาพของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวดำชาวสหรัฐฯ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจับกุมตัวด้วยข้อหาการใช้ธนบัตรปลอม แต่การจับกุมนั้นกลับกลายเป็นการฆาตกรรม
- เมื่อชายผู้โชคร้ายเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะเข่าที่กดลงบนคอของเขาทำให้เขาขาดอากาศหายใจ และทั้งๆ ที่ระหว่างการจับกุมชายคนดังกล่าวได้วิงวอนร้องขอความเมตตาด้วยการบอกว่าเขาหายใจไม่ออก และไม่ได้ดูมีท่าทีที่ขัดขืน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายดังกล่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 รายที่อยู่ในเหตุการณ์กลับเพิกเฉย ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกมองว่ากระทำการโดยมีอคติในใจเป็นที่ตั้ง ด้วยการปราศจากความเมตตาที่สะท้อนออกมาผ่านการกระทำ สีหน้า และที่สำคัญที่สุดคือแววตา เป็นเหตุให้ผู้คนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชายผิวสีผู้โชคร้ายคนดังกล่าว
โดยมีนักกีฬาทุกวงการได้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ จอร์จ ฟลอยด์
สโมสรพรีเมียร์ลีกร่วมออกแถลงการณ์ในการใช้ข้อความ ‘Black Lives Matter’ บนหลังเสื้อแทนชื่อของผู้เล่นทุกคนใน 12 เกมนัดแรกหลังกลับมาทำการแข่งขันใหม่อีกครั้ง และยืนยันสนับสนุนนักฟุตบอลคนใดก็ตามที่คุกเข่าเพื่อแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านการเหยียดสีผิว แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้เกิดจากการตกลงร่วมกันของ 20 สโมสร โดยระบุว่า “พวกเราในฐานะผู้เล่นขอยืนหยัดในเป้าหมายเดียวกันในการกำจัดการเหยียดเชื้อชาติ”
ไม่เพียงแค่วงการลูกหนังเท่านั้นที่ออกมาแสดงจุดยืน
แต่ยังมีทั้งวงการบาสเกตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ อีกหลายๆ กีฬาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรม ขณะที่ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานนักบาสเกตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ที่ในยามปกติแล้วปฏิเสธจะให้ความเห็นทางการเมืองมาโดยตลอดก็ไม่สามารถอดทนต่อเรื่องนี้ได้ไหว
- โดย ไมเคิล จอร์แดน ออกแถลงการณ์ผ่านทีมบาสเกตบอลของเขา ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ว่า “ผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เจ็บปวดอย่างแท้จริง และโกรธแค้นอย่างที่สุด
- “ผมได้เห็นและรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของทุกคน ความโกรธแค้น และความผิดหวัง ผมยืนหยัดร่วมกับทุกคนที่เรียกร้องในปัญหาการเหยียดสีผิวที่หยั่งรากฝังลึก และความรุนแรงที่ใช้กับคนผิวสีในประเทศของเรา พวกเราเจอสิ่งนี้กันมามากพอแล้ว
- “ผมไม่มีคำตอบให้ แต่เสียงของเราทุกคนแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และการที่จะไม่มีใครมาแบ่งแยกพวกเราได้ เราต้องรับฟังกันและกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน มีน้ำใจให้แก่กัน และอย่าหันหลังให้แก่ความรุนแรงที่ไร้เหตุผลอย่างเด็ดขาด เราต้องแสดงออกในการต่อต้านความอยุติธรรม และเรียกร้องความรับผิดชอบอย่างสงบ“ เสียงที่เป็นหนึ่งเดียวจะกดดันให้ผู้นำของเราต้องทำการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของเรา หรือไม่เช่นนั้นเราจะใช้การลงคะแนนเสียงของเราในการเปลี่ยนแปลงระบบ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออก และเราต้องพยายามร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมสำหรับทุกคน
- “หัวใจของผมอยู่กับครอบครัวของจอร์จ ฟลอยด์ และผู้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่ชีวิตต้องพบเจอกับความรุนแรง และถูกพรากไปจากการเหยียดผิวและความอยุติธรรมที่ไร้หัวใจ” ปัญหาการเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ เป็นเรื่องที่หยั่งรากฝังลึกมานาน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่อเมริกา แต่มีขึ้นทุกที่บนโลก
ครั้งนี้นักกีฬาเองก็ถือเป็นกลุ่ม ที่มีความสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนผิวดำ และได้เลือกแล้วที่จะขอเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นคนรับเสียงเชียร์จากทุกคน มาเป็นกระบอกเสียงส่งถึงทุกคน ให้มาร่วมเดินขบวนในครั้งนี้ ด้วยตระหนักรู้ว่าชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนผิวสีอะไรต่างก็มีค่าไม่ต่างกัน ฝากติดตามผลงานต่อไปของ HDfootball และ ข่าวฟุตบอล ด้วยนะครับ